วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2550

สื่อมวลชน...ให้อะไรกับการศึกษา

สื่อมวลชน (mass media) มาจากคำว่า "สื่อ" และ "มวลชน" หมายถึง สื่อหรือช่องทางในการนำสารไปยังมวล ชน ดังนั้น สื่อสารมวลชน จึงหมายความว่า การสื่อ สารไปยังผู้รับสารจำนวนมากในเวลาเดียวกัน โดยอาศัยสื่อมวลชนและผู้รับสาร ไม่ได้อยู่ร่วมกันในที่แห่งเดียวกัน และ เทคโนโลยี สื่อสารมวลชน หมายถึง เทคโนโลยีที่นำมา ประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาในด้านการจัดการด้านเทคนิคและรูปแบบของการสื่อสารมวลชน เพื่อให้การนำเสนอสารมีคุณ ค่าและความน่าสนใจไปสู่ผู้รับสาร ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร โปสเตอร์ ภาพยนตร์ เป็นต้น “สื่อมวลชนเพื่อการศึกษา” จึงหมายถึง การนำสื่อมวลชนมาใช้เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้เนื้อหาบทเรียนไปยังผู้เรียนหรือผู้รับจำนวนมากได้ในเวลาเดียวกัน

การสื่อสารมวลชนจะมีลักษณะเป็นการสื่อสารทางเดียว เพราะแทบจะไม่มีการป้อนกลับของข้อมูลส่งกลับไปยังผู้รับเลย แต่ในบางครั้งในการสื่อสารอาจจะมีการป้อนกลับของข้อมูลได้แต่ก็เป็นเพียงการป้อนกลับโดยอนุมาน ประเภทของสื่อมวลชนจำแนกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. สื่อสิ่งพิมพ์ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วารสาร ตำราเรียน
2. สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อระบบไฟฟ้า ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์
โดยสื่อมวลชนมีหน้าที่ที่สำคัญ 5 ประการ ดังต่อไปนี้
1. ให้ข่าวสารและรายงานความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ต่างๆ

2. เป็นแหล่งกลางในการเสนอความคิดเห็นหรือข้อโต้แย้งต่อปัญหาที่เกิดในสังคม
3. ให้สาระบันเทิงแก่ประชาชน
4. ให้ความรู้ทางการศึกษาและบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ
5. ให้บริการด้านธุรกิจการค้า
หน้าที่สำคัญดังกล่าวเป็นหน้าที่โดยทั่วไปของสื่อมวลชน แต่สื่อมวลชนจะมีบทบาทและหน้าที่นอกเหนือกว่านั้นในประเทศที่กำลังพัฒนา ดังนี้
1. การเสนอข่าว การทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวมากขึ้น การยกระดับความต้องการของประชาชนเพื่อเป้าหมายของการพัฒนา และการสร้างบรรยากาศ
2. การมีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจของสังคม สื่อมวลชนจะมีบทบาทในทางอ้อมโดยการให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆแก่ประชาชน
3. การสอน สื่อมวลชนสามารถช่วยในการศึกษาและฝึกอบรมทุกประเภท สามารถช่วยสนับสนุนระบบการศึกษา
สำหรับสื่อที่มีอิทธิพลมากที่สุดในปัจจุบัน คือ สื่อโทรทัศน์ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าปัจจุบันนี้ ทีวีหรือโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีผลต่อกระแสสังคมเป็นอย่างมาก แซงหน้าหนังสือพิมพ์ซึ่งเคยเป็นสื่อที่มีอิทธิพลมากในยุคก่อนสมัยรัฐบาลเผด็จการ สาเหตุส่วนหนึ่งคงมาจากความเป็นอิสระและการมีเสรีภาพมากขึ้นในวงการนี้ ทำให้สื่อโทรทัศน์สามารถนำเสนอข่าวสารต่างๆ ได้แปลกใหม่และหลากหลายกว่าสมัยถูกควบคุมโดยกลไกของรัฐและข้าราชการประจำ ประกอบกับธรรมชาติของโทรทัศน์ ที่สามารถนำเสนอภาพและเสียง ก็เลยยิ่งทำให้เข้าถึงประชาชนได้มากและรวดเร็วตลอดเวลาที่สังคมไทยได้เปลี่ยนผ่านมาสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารที่ทันสมัย ประกอบกับระบบสื่อสารมวลชนไทยมีการพัฒนาเกิดสื่อใหม่ๆ ขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สื่ออินเตอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือ ก็กลายเป็นสื่อเคลื่อนที่อันทรงพลังอำนาจ ซึ่งเปรียบเสมือนดาบสองคมที่หากเด็กและเยาวชนนำไปใช้อย่างผิดๆ ด้วยการโหลดภาพวิดีโออนาจาร มาส่งต่อๆ กันให้กับโทรศัพท์มือถือของเพื่อนในหมู่วัยรุ่น ดังนั้น การที่เยาวชนกระทำความผิด ก่ออาชญากรรม จี้ ปล้น ข่มขืน แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร กรณีนี้ สื่อ มักจะตกเป็น จำเลย ถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นต้นตอของเบ้าหลอมที่บิดเบี้ยวของเยาวชนอยู่เสมอ เพราะเหตุนี้เอง กรมประชาสัมพันธ์ได้จัดประเภทรายการทีวีโดยมีสัญลักษณ์แบ่งประเภทของรายการขึ้นอยู่ข้างจอทีวี เพื่อช่วยให้ประชาชนได้เลือกรับชมรายการต่างๆ ตามความเหมาะสมกับวัยและวุฒิภาวะ โดยแบ่งระดับตามตัวอักษร ได้แก่ ท. คือรายการทั่วไป ด. คือรายการเด็ก น.13 คือรายการที่ต้องแนะนำเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 13 ปี น.18 คือรายการที่ต้องแนะนำเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี และ ฉ. คือรายการเฉพาะ ในขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ได้พยายามจัดเรตติ้งรายการทีวี ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแบ่งประเภทโดยการโหวตผ่านอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้การขับเคลื่อนการจัดเรตติ้งของศูนย์เฝ้าระวังฯ นั้นเป็นกระบวนการเชิงวิชาการที่มุ่งให้เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสื่อมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยจากการศึกษาทางวิชาการได้สรุปรูปแบบการจัดเรตติ้งสื่อโทรทัศน์ที่มีความละเอียด ครอบคลุมการคุ้มครองเด็กและเยาวชนเพื่อไม่ให้ได้รับชมรายการที่ไม่เหมาะสมแบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้
ระดับ 0 จะต้องไม่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทางเพศ ภาษา และไม่มีการปรากฏตัวของภาพที่มีเนื้อหาความรุนแรง ระดับนี้เด็กและเยาวชนสามารถรับชมได้
ระดับ 1 มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในทางเพศ ภาษา ในระดับเล็กน้อย ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม มีความรุนแรงและความถี่ของภาพในระดับเล็กน้อยหรือต่อเนื่องไม่ยาวนาน
ระดับ 2 มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทางเพศ ภาษา ระดับปานกลาง ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี มีความรุนแรงและความถี่ของภาพในระดับเล็กน้อย
ระดับ 3 มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในทางเพศ ภาษา ในระดับมาก มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมและขัดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน ความรุนแรงอยู่ในระดับมาก และมีความถี่ของภาพที่ต่อเนื่องและยาวนาน
ทั้งนี้ วธ.ได้เริ่มให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดเรตติ้งในวันที่ 5 ธ.ค.ผ่านทางอินเตอร์เน็ต htpp://www.me.or.th และ SMS โดยพิมพ์ ME แล้วตามด้วยตัวเลขแต่ละช่อง กดไปในรายการที่ต้องการโหวต แล้วให้คะแนน 6 ระดับ ได้แก่ A ดีมาก B ดี C ปานกลาง D ไม่เหมาะสม E แย่ และ F แย่มาก ส่งมาที่ 4863333 ทั้งนี้เพื่อชักชวนให้ประชาชนได้เข้ามามีสิทธิมีเสียงในการจัดเรตติ้งรายการต่างๆ โดยส่วนตัวแล้วดิฉันเห็นว่าเห็นด้วยกับการจัดเรตติ้งของ วธ. และน่าจะทำขึ้นมานานแล้ว เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีมีความทันสมัย การที่จะไปควบคุมเป็นไปได้ยาก ซึ่งสถาบันการศึกษาเน้นผลิตบุคลากรนิเทศศาสตร์ให้มีคุณธรรมและจริยธรรมอยู่แล้ว แต่เมื่อนักศึกษาจบไปการทำงานก็จะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์กรเป็นหลัก ดังนั้น ควรที่จะต้องไปขอความร่วมมือกับภาคเอกชนด้วย สำหรับรายการที่นิยมให้ส่ง SMS ชิงรางวัลหรือการแสดงความคิดเห็นผ่าน SMS ทางทีวี จะว่าไปก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแต่ถ้าพิจารณาโดยภาพรวมแล้วจะเห็นได้ว่ามีข้อเสียมากกว่าข้อดี
ประการแรก เป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการส่ง
ประการที่สอง การแสดงความคิดเห็นอาจไม่ตรงประเด็นและใช้ข้อความที่ไม่เหมาะสมกับการแพร่ภาพออกอากาศ
ประการที่สาม การส่งข้อความที่ไม่ดีอาจมีผลกระทบต่อผู้ชมได้
แต่อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนก็ยังมีประโยชน์ต่อการเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ลักษณะการใช้สื่อมวลชนเพื่อการศึกษา

1. เครื่องมือในการสอน ผู้สอนสามารถนำรายการวิทยุ โทรทัศน์ มาผนวกกับการสอน และเป็นสื่อที่ให้เนื้อหาความรู้เกี่ยวกับบทเรียนนั้นโดยตรง 2. เครื่องมือในการปฏิบัติการ โดยการใช้กล้องโทรทัศน์ช่วยในการจับภาพจากกล้องจุลทัศน์เพื่อฉายให้ผู้เรียนเห็นบนจอรับภาพ
3. สื่อสอนแทนครู ในกรณีที่มีการขาดแคลนครู ก็อาจใช้วิทยุหรือโทรทัศน์เพื่ออกอากาศการสอนได้
4. เพื่อเสริมความรู้ เป็นการใช้รายการวิทยุ โทรทัศน์ ข่าวสารบทความเสริมให้ผู้เรียนได้รับความรู้
5. อุปกรณ์การสอนจุลภาค/มหาภาค โดยการบันทึกวีดิทัศน์การสอนหรือการปฏิบัติของผู้เรียนแต่ละคน
6. สื่อในการศึกษาระบบเปิด โดยใช้วิทยุหรือโทรทัศน์เป็นสื่อเพื่อดำเนินการสอนส่งไปยังผู้เรียนที่อยู่ตามบ้าน
7. อุปกรณ์ในการบันทึกเรื่องราวสำคัญ การแสดง การทดลอง การบรรยายโดยวิทยากร ที่ออกอากาศทางวิทยุ สามารถบันทึกลงวีดิทัศน์ เทปบันทึกเสียง และสิ่งพิมพ์ได้
8. แหล่งการเรียนรู้ เป็นการรวบรวมวัสดุที่บันทึกเรื่องราวสำคัญต่างๆ ไว้เพื่อการศึกษาค้นคว้า โดยอาจเก็บไว้ในห้องสมุด
9. ให้ผู้เรียนหรือผู้ฟัง/ผู้ชมร่วมในรายการ
10. เพิ่มความเป็นธรรมในสังคม โดยการให้ความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ผู้ที่ต้องออกจากโรงเรียน ผู้เรียนกลุ่มพิเศษ โดยการใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ วีดิทัศน์
11. เพื่อบริการสังคม เพื่อการเสนอข่าวสาร ความรู้ สาระบันเทิง ตลอดจนการศึกษาทั้งทางตรง และทางอ้อม
การใช้สื่อมวลชนเพื่อการศึกษา สื่อมวลชนจำแนกออก ได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อระบบไฟฟ้า สื่อสองประเภทนี้สามารถนำมาใช้ในการศึกษาทั้งในระบบและนอกโรงเรียนได้ทั้งสิ้น สื่อแต่ละประเภทที่นำมาใช้ในการศึกษา ดังนี้
1. สิ่งพิมพ์
2. วิทยุ
3. โทรทัศน์และวีดิทัศน์
4. ภาพยนตร์
5. สื่อประสม
สามารถจำแนกการใช้ออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1. เพื่อการสอนโดยตรง สื่อมวลชนที่ใช้สอนโดยตรงจะต้องมีเนื้อหาที่บรรจุอยู่ในสื่อตรงตามเนื้อหาบทเรียน

2. เพื่อเพิ่มคุณค่าทางการสอน เป็นการนำสื่อมวลชนมาใช้ประกอบการสอนเพื่อเพิ่มความรู้แก่ผู้เรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าที่เรียนจากสื่อที่ใช้ในการสอนโดยตรงในชั้นเรียน สื่อมวลชนที่นำมาใช้จะมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับบทเรียนตามหลักสูตร แต่จะขยายวงกว้างกว่าสื่อที่นำมาสอนโดยตรง

สิ่งพิมพ์
สิ่งพิมพ์ หมายถึง ข้อความ ข้อเขียน หรือภาพที่เกี่ยวกับแนวความคิด ข้อมูล สารคดี บันเทิง ซึ่งถ่ายทอดด้วยการพิมพ์ลงบนกระดาษ ฟิล์ม หรือวัสดุพื้นเรียบ สิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา หมายถึง สิ่งพิมพ์ในรูแบบต่าง ๆ ที่จัดพิมพ์ขึ้นโดยบรรจุเนื้อหาสาระที่ดีมีประโยชน์และให้ความรู้ทั้งที่เป็นความรู้ ส่วนสิ่งพิมพ์เพื่อการสอน หมายถึง สิ่งพิมพ์ที่ให้ความรู้เฉพาะอย่างตามหลักสูตรการเรียน ซึ่งอาจเย็บรวมเล่มหรือเป็นแผ่น ทั้งที่ใช้พิมพ์หรือเขียน
ประเภทของสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา สิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ สิ่งพิมพ์ทั่วไป และสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ ได้แก่ สิ่งพิมพ์ทั่วไป
1. หนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์สามารถให้ประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างกว้างขวาง ดังนี้
— ช่วยฝึกทักษะในการอ่าน
— ให้ผู้อ่านได้ศึกษา วิเคราะห์ และวิจารณ์ข่าวสาร
— ให้ความรู้เบื้องต้น
— ให้ข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์ประจำวัน
— เป็นเครื่องวัดระดับความรู้และความสนใจของชุมชน
— สามารถเก็บหนังสือพิมพ์เป็นหลักฐานในการค้นคว้า อ้างอิง
2. นิตยสาร วารสาร และจุลสาร เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ในรูปเล่มของหนังสือที่ออกเผยแพร่เป็นรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน หรือแล้วแต่ระยะเวลา
สิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา
1. หนังสือตำรา เป็นสื่อที่พิมพ์เป็นเล่ม ประกอบด้วยเนื้อหาตามหลักสูตรการเรียนการสอนโดยอธิบายเนื้อหาวิชาอย่างละเอียด อาจมีภาพถ่ายหรือภาพเขียนประกอบเพื่อเพิ่มความสนใจของผู้เรียน
2. แบบฝึกปฏิบัติ
3. พจนานุกรม

4. สารานุกรม
5. หนังสือภาพหรือภาพชุดต่างๆ
6. วิทยานิพนธ์และรายงานการวิจัย
7. สิ่งพิมพ์ย่อส่วน หนังสือเก่าหรือชำรุดหรือหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากย่อมไม่สะดวกในการเก็บรักษา จึงอาศัยวิธีการเทคโนโลยีใยการทำสิ่งพิมพ์ย่อส่วน ได้แก่
— ไมโครฟิล์ม เป็นการถ่ายหนังสือแต่ละหน้าลงบนม้วนฟิล์ม
— ไมโครฟิช เป็นแผ่นฟิล์มแข็งขนาด 4 x6 นิ้ว สามารถบันทึกข้อความจากหน้าหนังสือโดยย่อเป็นกรอบเล็กๆ หลายๆ กรอบ
การใช้สิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาจำแนกได้ 3 วิธี คือ
1. ใช้เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับวิชาเรียน
2. ใช้เป็นวัสดุการเรียนร่วมกับสื่ออื่นๆ
3. ใช้เป็นสื่อเสริมในการเรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์
สื่อสิ่งพิมพ์ทั้ง 3 วิธี ผู้สอนสามารถนำสิ่งพิมพ์ทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์ทั่วไปหรือเพื่อการศึกษาโดยเฉพาะมาใช้ในการเรียนการสอน โดยพิจารณาตามลักษณะของสิ่งพิมพ์และลักษณะของการใช้ ดังนี้
1. สิ่งพิมพ์ที่เขียนขึ้นในลักษณะของหนังสือตำรา
2. สิ่งพิมพ์ที่เขียนขึ้นในลักษณะบทเรียนสำเร็จรูปเพื่อง่ายต่อการศึกษา
3. สิ่งพิมพ์เสริมการเรียนการสอน เช่น แบบปฏิบัติ
4. สิ่งพิมพ์ทั่วไปๆ ไป เช่น นิตยสาร หนังสือพิมพ์
5. สิ่งพิมพ์ประเภทภาพชุด

วิทยุ
วิทยุเป็นอุปกรณ์สื่อสารในการรับส่งข้อมูลทางด้านเสียงโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าโดยไม่ต้องใช้สาย การใช้วิทยุเพื่อการสื่อมวลชนเพื่อการศึกษาในประเทศไทยเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 โดยใช้ในและนอกระบบโรงเรียน ถ้าเป็นการศึกษาในระบบโรงเรียนเรียกว่า “วิทยุโรงเรียน” ถ้านอกระบบโรงเรียนเรียกว่า “วิทยุไปรษณีย์” เราเรียกการใช้วิทยุในการศึกษารวมเรียกว่า “วิทยุศึกษา”
การใช้วิทยุเพื่อการศึกษา
1.การสอนโดยตรง เป็นการใช้วิทยุเพื่อเป็นสื่อสอนโดยตรงในบางวิชาหรือบางตอนของบทเรียน รายการวิทยุที่ใช้สอนจึงเป็นการเสนอตามเนื้อหาบทเรียนในหลักสูตร การสอนโดยใช้วิทยุสามารถกระทำได้ดังนี้
— ใช้เป็นเครื่องมือในการสอน
— ใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้
— ใช้เป็นสื่อหลักในการศึกษาตามหลักสูตร
—ใช้เป็นสื่อเสริมในการศึกษาระบบเปิด ด้วยการใช้รายการวิทยุเป็นสื่อเสริมประเภทในระบบการศึกษาทางไกล
—ใช้เป็นอุปกรณ์ในการฝึกอบรม
2.การเพิ่มพูนคุณค่าในการสอน เป็นการใช้รายการวิทยุเพื่อปรุงแต่งและเสริมคุณค่าของการสอนในบางวิชาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

โทรทัศน์
การใช้โทรทัศน์การศึกษาและการสอน
1. การสอนโดยตรง เป็นการใช้โทรทัศน์เพื่อเสนอรายการที่จัดทำขึ้นตามเนื้อหาในหลักสูตรในรูปแบบของโทรทัศน์การสอน
— ใช้เป็นเครื่องมือในการสอน
— ใช้เป็นสื่อสอนแทนครู
— ใช้เป็นสื่อเพื่อเสริมความรู้
— ใช้เป็นสื่อในการศึกษาระบบเปิด
— เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในสังคม
2. การเพิ่มคุณค่าทางการสอน เป็นการนำรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทเรียนนั้นมาเสนอแก่ผู้เรียนเพื่อเพิ่มความรู้และประสบการณ์ และเป็นการช่วยเสริมสร้างบรรยากาศทางการเรียนให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

วีดิทัศน์
แถบวีดิทัศน์เป็นวัสดุสำคัญที่สามารถใช้บันทึกภาพและเสียงไว้ได้พร้อมกันในแถบเทปในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และยังสามารถลบแล้วบันทึกใหม่ได้เช่นเดียวกับเทปบันทึกเสียง แถบวีดิทัศน์จะใช้กับเครื่องเล่นวีดิทัศน์ซึ่งต่อเข้ากับเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อเล่นภาพและเสียงออกมา

ภาพยนตร์
ภาพยนตร์ หมายถึง ภาพนิ่งเรียงติดต่อกันที่ถูกบันทึกลงบนม้วนฟิล์มด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์ เมื่อฉายฟิล์มไปที่จอภาพ ภาพยนตร์การศึกษา หมายถึง ภาพยนตร์ที่เป็นสื่อถ่ายทอดความรู้ ข้อมูล เรื่องราว แนวคิด เหตุการณ์ ให้ผู้ชมได้รับความรู้จากเรื่องราวที่เสนอ โดยไม่จำกัดกลุ่มผู้ชม
การใช้ภาพยนตร์เพื่อการสอน การใช้ภาพยนตร์ในชั้นเรียน ผู้สอนต้องตั้งจุดประสงค์ว่าจะใช้ภาพยนตร์เพื่อการสอนโดยตรงหรือเพื่อประกอบการสอน เพราะภาพยนตร์เรื่องเดียวอาจใช้เนื้อหาเพื่อสนองตามจุดประสงค์ที่แตกต่าง ในการใช้ภาพยนตร์นั้นอาจจะใช้ทั้งเรื่องหรือเลือกเฉพาะตอนใดตอนหนึ่งมาใช้สอนก็ได้เพื่อความเหมาะสม ซึ่งผู้สอนควรยึดหลักการดังนี้
1. ก่อนนำมาฉายในชั้นเรียน ผู้สอนควรทราบถึงรายละเอียดและความสำคัญของเนื้อเรื่องนั้นก่อน
2. ควรมีการเตรียมพร้อมผู้เรียนเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการชมภาพยนตร์
3. ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมขณะฉายภาพยนตร์ซึ่งอาจทำได้โดย
— หยุดฉายภาพยนตร์เพื่อให้ผู้เรียนซักถาม
— หยุดฉายภาพยนตร์เพื่อทดลองฝึกทักษะ
— สอดแทรกคำถามให้ผู้เรียน
4. ควรใช้ภาพยนตร์คู่กับสื่อๆ
5. ใช้ภาพยนตร์สี
6. ฉายภาพยนตร์บางตอนซ้ำ
7. มีกิจกรรมให้ผู้เรียนทำหลังชมภาพยนตร์

สื่อประสม
การใช้สื่อประเภทอื่นมาใช้ร่วมด้วยในลักษณะของ”สื่อประสม” มีการใช้ดังนี้ คือ
1. สื่อหลัก โดยใช้สื่อมวลชนในการสื่อสารระหว่างผู้สอน
2. สื่อเสริม

การศึกษาทางไกล
การศึกษาทางไกลเป็นระบบการศึกษาที่ผู้เรียนและผู้สอนอยู่ไกลกันคนละสถานที่ แต่สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้โดยอาศัยสื่อมวลชน 2 ประเภท คือ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสื่อสิ่งพิมพ์

การใช้สื่อมวลชนในการศึกษาทางไกล
1. สื่ออิเล็กทรอนิกส์ จำแนกเป็นสื่อประเภทเสียง และสื่อประเภทเสียงและภาพ
2. สื่อสิ่งพิมพ์ เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่จัดให้ผู้เรียนเรียนได้ด้วยตนเอง อยู่ในรูปแบบของชุดการเรียน สื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่อที่ให้ความสะดวกแก่ผู้เรียนและเอื้ออำนวยในการศึกษาทางไกล ดังนี้

— เป็นสื่อที่ผู้เรียนสามารถใช้เวลาศึกษาได้ตามความสามารถ
— สามารถทราบผลการศึกษาจากกิจกรรมและคำถามท้ายเรื่อง
— สามารถทราบผลความก้าวหน้าของการศึกษาจากอาจารย์
— สามารถตรวจสอบผลการปฏิบัติงานต่างๆ
— ผู้เรียนจะเกิดความเข้าใจในความสามารถของตน
3. สื่อบุคคล คือ อาจารย์ ผู้เรียน ในการสื่อสารกันของสื่อบุคคลสามารถกระทำได้ในลักษณะต่อไปนี้
— การติดต่อทางไปรษณีย์
— การติดต่อทางโทรศัพท์
— การจัดทบทวนในท้องถิ่นแต่ละแห่งโดยเชิญวิทยากร
— การเข้าศึกษากับอาจารย์สัญจร
—การรวมกลุ่มของผู้เรียนในแต่ละแห่งเพื่ออภิปรายเนื้อหา
—การติดต่อปรึกษาหารือกันระหว่างเรียน

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

บล็อก เรียบร้อยดีนะจ๊ะ เรื่องสื่อมวลชนฯ นี่เป็งรายงานใช่ป่ะ เนื้อหาวิชาการมั่ก..แต่ก็ดีได้ความรู้ใหม่ๆนะ เรื่องริบบิ้นสีฟ้า... ถ้าตัวหนังสือโตๆกว่านี้หน่อย ล่ะก็ โอเช เลยจ้ะ... ไว้ จา แวะมาอ่านบ่อยๆนะค้าบ